สารบัญ

ปัจจุบันพืชอย่าง “กัญชา” ได้มีกฎหมายใหม่สามารถนำมาใช้งานได้ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจนำไปศึกษาวิจัย และรักษาโรคภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แน่นอนว่าเรื่องของกัญชาทางการแพทย์จึงต้องให้ความสำคัญอย่างที่สุด แล้วจะช่วยรักษาโรคอะไรได้บ้าง มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร? อย่ารอช้าที่จะรีบไปศึกษาพร้อมกันทางนี้เลย

โดยทั่วไปแล้ว “กัญชา” มีกี่สายพันธุ์ สรรพคุณมีอะไรบ้าง?

กัญชาเป็นพืชที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa จัดเป็นพืชอยู่ในตระกูล Cannabis โดยมีด้วยกันทั้งสิ้น 3 สายพันธุ์ คือ

  1. Cannabis sativa spp. Sativa หรือที่รู้จักอีกชื่อว่ากัญชง จะมีความสูง 6 เมตร ต้นใหญ่ หนา แข็งแรง ใบมีสีเขียว เรียวยาว เติบโตได้ดีเมื่ออยู่ในเขตอากาศร้อน
  2. Cannabis sativa spp. Indica จะมีความสูงไม่เกิน 2 เมตร ไม้พุ่มเตี้ย ใบจะสั้น กว้าง และเป็นสีเขียวเข้ม เติบโตได้ดีเมื่ออยู่ในเขตอากาศเย็น หรืออยู่ในที่ร่ม
  3. Cannabis sativa spp. Ruderalis จะมีลักษณะใบกว้าง เล็ก (ต้นเล็กคล้ายวัชพืช) สามารถเติบโตได้ดีทั้งในเขตร้อนและเย็นจัด ส่วนใหญ่พบเห็นได้ตามทวีปยุโรป

ในส่วนของการใช้งานกัญชาทางการแพทย์นี้ จะจัดอยู่ในประเภท Cannabis sativa spp. Indica โดยที่สามารถนำสารสำคัญที่มีมารักษาได้ นั่นคือ Cannabidiol (CBD) และ Tetrahydrocannabinol (THC) ที่มีความน่าสนใจแตกต่างกันคือ

  • สาร Cannabidiol (CBD)

สำหรับประโยชน์ของสาร Cannabidiol (CBD) ได้มีงานวิจัยมารองรับการใช้งาน ว่าจะสามารถช่วยรักษาอาการลมชักในเด็กได้อย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มอาการที่เรียกว่า Dravet และ Lennox – Gastaut

  • สาร Tetrahydrocannabinol (THC)

จะช่วยลดอาการปวดแบบเรื้อรังของร่างกายได้ดี ใครที่ต้องใช้ยาเคมีบำบัดแล้วมีอาการคลื่นไส้ก็จะช่วยลดอาการคลื่นไส้ลงได้ รวมถึงบางคนเบื่ออาหารก็ช่วยกระตุ้นให้อยากกินมากขึ้น (ใช้ได้เฉพาะผู้ที่อยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น) และลดเกร็งให้กับผู้ป่วยที่มาจากโรคทางประสาทบางชนิด

กัญชาทางการแพทย์ช่วยรักษาโรคอะไรได้บ้าง?

แม้จะรู้ว่ามีสารชนิดใดที่เป็นส่วนประกอบหลักอยู่ในกัญชาทางการแพทย์แล้วนั้น แต่การรู้ถึงประโยชน์ด้านการรักษาอย่างละเอียดจะช่วยให้เข้าใจการใช้งานมากขึ้น

1. ช่วยรักษาต้อหินที่ดวงตาได้ 

สารสกัด THC ที่อยู่ในกัญชานั้นได้มีการนำไปทดลองแล้วพบว่าถูกนำมาใช้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการกิน หยอด หรือดมกลิ่น โดยพบการเปลี่ยนของความดันลูกนัยน์ตาซึ่งทำให้เกิดต้อหิน 3 – 5 มิลลิลิตรปรอทเลยทีเดียว กระนั้นฤทธิ์ยาสามารถอยู่ได้ 2 – 4 ชม. และมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึม อารมณ์แปรปรวนได้ง่าย ปัจจุบันจึงถือว่าอยู่ในช่วงวิจัยและพัฒนาให้สามารถใช้งานได้ต่อไปอยู่

2. ช่วยรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อนุพันธ์ของสาร THC ไม่ว่าจะเป็น Dronabinol หรือ Nabilone ก็ตาม สามารถช่วยลดอาการคลื่นไส้ที่เป็นผลมาจากการให้ยาเคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ทั้งยังทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้ช้า ๆ ช่วยให้เจริญอาหาร และเมื่อทดลองกับสัตว์พบว่าเชื้อมะเร็งที่ได้รับสารนี้เข้าไปมีขนาดเล็กลง กระนั้นปัจจุบันก็ยังคงต้องมีการศึกษาและวิจัยเพิ่มเติมต่อไป

3. ทำให้อาการหอบหืดลดลง

ต้องบอกว่าสารที่มีอยู่ในกัญชาทางการแพทย์ ส่วนใหญ่จะช่วยทำให้หลอดลมขยาย หรือลดตัวได้ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะช่วยควบคุม หรือทำให้อาการหอบหืดลดน้อยลง แต่การใช้งานนั้นก็ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ประจำตัวผู้ป่วยด้วยเพื่อความปลอดภัย

4. ช่วยให้โอกาสสมองฝ่อลดลง

จากการวิจัยอย่างต่อเนื่องจากประเทศอังกฤษพบว่ามีสารที่อยู่ในกัญชาอย่าง Endocannabioids และ Acid cannabinoids โดยสารเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะช่วยรักษาโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากอาการทางระบบประสาทและสมอง เช่น โรคฮันติงตัน โรคพาร์กินสัน ปัจจุบันยังคงมีการวิจัยและพัฒนาถึงการนำไปใช้ และอยู่ในขั้นตอนการทดลสอบทางคลินิก

5. ช่วยกล้ามเนื้อลดอาการเกร็ง

สาร Cannabidiol (CBD) ที่มีอยู่ในกัญชานี้ มีส่วนช่วยให้อาการปวดกล้ามเนื้อที่เป็นอยู่อย่างเรื้อรัง หรือโรคกล้ามเนื้อกระตุก ที่มักกระตุกขึ้นมาสร้างความรำคาญใจลดลงได้อย่างดี ไม่ปวดเกร็งอีกต่อไป จึงใช้ชีวิตประจำวันได้ดีมากขึ้น

6. ช่วยให้อาการลมชักบางชนิดไม่กำเริบ

สุดท้ายเป็นประโยชน์ที่ได้จากกัญชาทางการแพทย์ ว่าด้วยเรื่องสารที่มีอยู่ในกลุ่ม CBD ที่จะคอยดักจับระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงส่วนปลายระบบประสาท แต่ไม่ได้ส่งผลต่อระบบประสาทรุนแรง ซึ่งจะช่วยให้อาการชักถูกควบคุมได้อย่างดี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะให้สาร CBD นี้ร่วมกับยากันชักอยู่ที่ 200 – 300 มิลลิกรัม พร้อมระงับอาการชักที่จะเกิดขึ้นได้

โดยผลจากการทดสอบเป็นเวลา 8 – 18 สัปดาห์ พบว่า 37% อาการดีขึ้นอย่างชัดเจน และอีก 63% ไม่เกิดอาการชักเหมือนที่ผ่านมา (หรือถ้าเกิดก็น้อยครั้งกว่าก่อนที่จะไม่ใช้กัญชาช่วย) กระนั้นมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึมหนักมาก ต้องใช้ติดต่อกันนาน ๆ ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันยากขึ้น

7. ลดอาการปวดต่าง ๆ

เพราะในสาร THC มีส่วนผสมอย่างแคนนาบินอยด์ที่จะช่วยลดอาการปวดได้ทั้งแบบเรื้อรังและฉับพลัน โดยมีการทดลองแล้วกับผู้ป่วยพบว่าการเลือกใช้สารในขนาด 2.5 หรือ 2.7 มิลลิกรัมนั้น จะช่วยลดอาการได้อย่างดี ทำให้การนอนหลับสบายมากขึ้น นอกจากลดปวดกล้ามเนื้อแล้วก็ยังลดปวดข้อได้อย่างดีมีประสิทธิภาพ

ระวังการใช้งานกัญชาแบบผิด ๆ เสี่ยงเกิดอันตรายต่อร่างกาย

แม้กัญชาทางการแพทย์จะเป็นประโยชนในการช่วยรักษาได้หลายโรค แต่หากถูกนำมาใช้แบบผิด ๆ ก็ส่งผลต่อร่างกายได้เช่นกัน ซึ่งหากเป็นแบบนั้นคงไม่ใช้ผลดีแล้วแน่ ๆ เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นได้หลายรูปแบบ

  • มีโอกาสป่วยเป็นโรคซึมเศร้า : เนื่องจากสารที่มีอยู่ภายในกัญชามีส่วนช่วยให้รู้สึกอารมณ์ดีมากขึ้นแต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เมื่อเสพไปนาน ๆ แล้วหากคิดเลิกก็มักมีอารมณ์แปรปรวนมากขึ้น อารมณ์ดีไม่นานอารมณ์นอยด์กลับมา จึงเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคนี้ และมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงมากขึ้น
  • มีโอกาสป่วยมะเร็งปอด : เมื่อนำเอาไปม้วนผสมกับบุหรี่หรือสูบตามวิธีทั่วไปเพื่อหวังจะช่วยให้ผ่อนคลายมากขึ้น แต่นั่นจะเป็นการทำให้สารในกัญชาแห้งเพิ่มพิษเข้าสู่ปอดได้มากกว่าเดิม เทียบให้เห็นภาพคือ สูบกัญชา 4 มวนเทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1 ซองเลยทีเดียว
  • เพิ่มความเสี่ยงด้านระบบประสาท : จะทำให้เกิดความผิดปกติได้ เมื่อใช้กัญชาเป็นเวลานาน หรือใช้เป็นประจำ สารบางตัวมักส่งผลต่อกระบวนการคิด การตัดสินใจ รวมถึงความจำที่มีอยู่จะแย่ลงเรื่อย ๆ
  • สร้างปัญหาต่อสมรรถภาพทางเพศ : ฮอร์โมนที่ชื่อเทสโทสเตอโรนในผู้ชายลดลงไปด้วย ปกติฮอร์โมนนี้จะเป็นปัจจัยเพิ่มอสุจิและเพิ่มความต้องการทางเพศ เมื่อปริมาณลดลงจึงเป็นเหตุผลของการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือมีอารมณ์ทางเพศลงน้อยลง

กรณีที่เกิดใช้งานด้วยตนเองแบบผิด ๆ แล้วเกิดติดกัญชาอยากเลิก จริง ๆ ก็มีวิธีเบื้องต้นมาแนะนำ คือควรหยุดการใช้งานไปเลยทันที ซึ่งอาจมีอาการถอนบ้างในช่วง 1 – 2 วันแรก แล้วอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ทั้งนี้อาจมีความกระวนกระวายใจ ต้องการของเย็นมาสัมผัสกับร่างกาย ซึ่งญาติต้องให้กำลังใจ และคอยอยู่เคียงข้างด้วย

หรือหากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม แนะนำให้ติดต่อสถานบำบัดยาเสพติด หรือสายด่วนยาเสพติด 1165 ติดต่อขอคำปรึกษา ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการเลิกสารเสพติดแนะนำวิธีการที่เหมาะสมมากที่สุดกับตัวบุคคลที่มีความแตกต่างกันออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม :

สรุป

กัญชาทางการแพทย์มีประโยชน์ต่อร่างกายแต่การใช้งานก็ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วย ไม่ควรนำมาใช้เองเพราะไม่รู้ว่าร่างกายต้องการรับในปริมาณเท่าไหร่ได้จึงเหมาะสม โดยสารจะถูกขับออกเองทางปัสสาวะ และอุจจาระ ส่วนสารที่ตกค้างในร่างกายก็จะขึ้นอยู่กับความถี่การใช้งาน บางคนตรวจพบได้ 10 – 13 วัน หรือบางคนอาจจะนาน 45 – 90 วันเลยทีเดียว